Dow หนุน ‘ลด โลก เลอะ’ เพื่อบ้านฉางไร้ขยะพลาสติก
ระยอง 26 มกราคม 2564 – เตรียมพบกับสามล้อไฟฟ้า “ลด โลก เลอะ” วิ่งรับบริจาคพลาสติกใช้แล้วในเขตเทศบาลเมืองบ้านฉาง จ.ระยอง เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและนำพลาสติกใช้แล้วมาหมุนเวียนสร้างประโยชน์ ดีเดย์ 1 กุมภาพันธ์นี้ โดยความร่วมมือระหว่างเทศบาลเมืองบ้านฉางกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow)
เทศบาลเมืองบ้านฉางจับมือกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ร่วมกันเปิดตัวรถสามล้อสีเขียวสีสดใสภายใต้กิจกรรม “ลด โลก เลอะ” ซึ่งภายในจะมีเครื่องบีบอัดพลาสติกที่ Dow สนับสนุนซึ่งออกแบบใหม่ให้พอดีกับขนาดรถและสะดวกต่อการใช้งาน ช่วยลดขนาดและเพิ่มปริมาณพลาสติกที่จะรับบริจาคทุกชนิดจาก 26 ชุมชนกลุ่มเป้าหมายในเขตเทศบาลเมืองบ้านฉางรวม 300 ครัวเรือน โดยจะเริ่มวิ่งให้บริการทุก ๆ วัน เริ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 สำหรับท่านที่สมัครเป็นสมาชิกกับกิจกรรม “ลด โลก เลอะ” จะได้รับกระเป๋าอเนกประสงค์ ผลิตจากเม็ดพลาดสติกเหลือใช้ของกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เป็นของสมนาคุณ.
“ที่ผ่านมา เราได้รณรงค์ให้ความรู้เยาวชนและชุมชนเกี่ยวกับการคัดแยกพลากติกทั้ง 7 ประเภทเพื่อนำไปรีไซเคิลต่ออย่างเหมาะสม ช่วยลดปริมาณพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับคนในชุมชน เรายังคงสานต่อเป้าหมายการทำงานด้านความยั่งยืนของ Dow ในการต้านโลกร้อน ลดขยะ และส่งเสริมวงจรรีไซเคิล ซึ่งตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนของปัญหาที่ผู้คนทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยร่วมกับเทศบาลฯ ในการรับบริจาคพลาสติกเชิงรุกในชุมชน พลาสติกที่ท่านไม่ใช้ เราขอรับบริจาคเพื่อนำไปจัดการเป็นสิ่งของกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” นายณัฐพงศ์ จิรวัฒนาวรกุล ผู้จัดการแผนกสื่อสารองค์กรและชุมชนสัมพันธ์ประจำโรงงาน กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าว
นายไพโรจน์ เรืองธุระกิจ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านฉาง กล่าวเสริมว่า “เทศบาลบ้านฉางมุ่งจัดการขยะในชุมชนอย่างมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนและประชาสังคม เนื่องจากขยะเป็นเรื่องของเราทุกคน ทุกคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะพลาสติก ไม่ให้ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมและกลับมารีไซเคิลใช้ประโยชน์อื่น ๆ ต่อไปอย่างไม่รู้จบ”
โดยเฉลี่ยคนไทยใช้ถุงพลาสติกกันวันละ 8 ใบ หรือมากกว่า 20,000 ใบในแต่ละปี ยิ่งด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนนิยมใช้บริการรับ-ส่งอาหาร (food delivery) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการใช้จำนวนถุงพลาสติกทวีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย หากไม่มีการจัดการขยะที่เหมาะสม ท้ายที่สุดพลาสติกเหล่านี้จะปนเปื้อนกลายเป็นขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ตามที่ควรจะเป็น และหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมกลายเป็นมลภาวะต่อไป
รายงานข่าว/ฐนกร เปรมสมบัติ