จังหวัดระยอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานจังหวัดระยอง และสำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมลงนาม MOU แสดงเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ พร้อมประเมิน ITA
ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดระยอง นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดระยอง ครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 โดยมี นายอนันต์ นาคนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พร้อมด้วย นายสมชาย รุ่งเรือง ท้องถิ่นจังหวัดระยอง และผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในพื้นที่ร่วมประชุม โดยวันนี้ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันปราบปรามการทุจริตและการยกระดับคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ระหว่างจังหวัดระยองรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง สำนักงานจังหวัดระยอง และสำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งมีความพร้อมในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) และจะร่วมกันยกระดับการประเมินดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้นไป
นายชาญนะ กล่าวว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการพัฒนาระบบราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น การทำ ITA เป็นเหมือนกับการทดสอบตนเองเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่หน่วยงานได้ดำเนินการนั้นภาคประชาชนมองหน่วยงานว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะนำสู่การปรับปรุงกระบวนการ ถึงแม้โครงการต่าง ๆ อาจเหมาะสมแล้วแต่การมีส่วนร่วมของประชาชนจะช่วยสะท้อนให้หน่วยงานเห็นว่ามีสิ่งใดควรปรับปรุง ทั้งนี้การสร้างจิตสำนึกในระยะยาวที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือช่วยกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และท้องถิ่น ต้องร่วมมือและช่วยกันดำเนินการขับเคลื่อนคือการสร้างจิตสำนึก “ไม่โกง ไม่คอร์รัปชัน”
สำหรับการประเมิน ITA นั้น มีที่มาจากการ “เปิด” 2 ประการ คือ “เปิดเผยข้อมูล” ของหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบและสามารถตรวจสอบการดำเนินงานได้ และ “เปิดโอกาส” ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงาน และประชาชนผู้รับบริการหรือติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐได้เข้ามามีส่วนร่วมประเมินหรือแสดงความเห็นต่อหน่วยงานภาครัฐผ่านการประเมิน ITA ซึ่งการ “เปิด” ทั้ง 2 ประการข้างต้นนั้น จะช่วยส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐมีความโปร่งใสและนำไปสู่การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบของทุกภาคส่วน โดยแบ่งการประเมินเป็น 3 ส่วน คือ การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ความรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในหน่วยงาน และการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกหน่วยงาน